การเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม ผลกระทบจากสื่ออินเทอร์เน็ต


ผลจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

             

                  ปัญหาเรื่องความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต
บทนำ
            วัฒนธรรม หมายถึง แนวปฏิบัติของสังคมซึ่งเป็นการแสดงออกถึงแนวคิดที่สังคมเห็นพ้องว่าเป็นสิ่งที่ดีงามสมควรได้รับการปฏิบัติต่อเนื่องกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมซึ่งมีค่าบังคับในทางสังคม จนเรียกได้ว่าเป็นจารีตประเพณีของสังคม แม้อาจจะไม่มีค่าบังคับทางกฎหมายแต่กลับมีผลบังคับในทางธรรมชาติสังคมนั้นๆ
          นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สังคมมีไทยการความแปรเปลี่ยนของวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง และมีลักษณะการแปรเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สาเหตุหลักของความแปรเปลี่ยนของวัฒนธรรมในสังคมเกิดขึ้นจาก การแพร่กระจายของค่านิยมหรือวัฒนธรรมจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือของสังคมใดสังคมหนึ่งเข้ามายังสังคมอีกสังคมหนึ่ง และค่านิยมนั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงขึ้นไปลดระดับค่าของวัฒนธรรมเดิมหรือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเดิมจนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ในสังคมนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของแฟชั่นเครื่องแต่งกาย ค่านิยมในเรื่องการทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน เป็นต้น

2. อินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดความเบี่ยงเบนได้อย่างไร
            แต่การแพร่กระจายตัวของค่านิยมหรือวัฒนธรรมแบบเดิมโดยใช้สื่อสารสนเทศแบบเดิมเช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ ซึ่งเป็นสื่อสารสนเทศแบบสื่อสารด้านเดียวนั้น และสามารถถูกควบคุมหรือจำกัดทางด้านเนื้อหาจากรัฐได้นี้เอง ทำให้การแพร่กระจายตัวของค่านิยมหรือวัฒนธรรมจากสังคมอื่นเป็นไปอย่างช้า กระบวนการในซึมซับวัฒนธรรมจากสังคมอื่นไม่เป็นไปแบบก้าวกระโดด
            ในขณะที่อินเทอร์เน็ตในฐานะของเครื่องมือสื่อสารในสารสนเทศแบบ 2 ด้าน กล่าวคือ ผู้เข้าไปใช้สื่ออินเทอร์เน็ตสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อได้เอง และในขณะเดียวกันผู้ผลิตสื่อก็เป็นผู้เข้าไปใช้สื่อเองด้วย ลักษณะของอินเทอร์เน็ตจึงเป็นสื่อสารสนเทศที่ผู้ใช้สามารถตอบโต้กับสื่อได้อย่างอิสระ
           ประกอบกับความไร้ตัวตนของมนุษย์ (Virtual Man) ในโลกแห่งอินเทอร์เน็ต ที่ไม่สามารถระบุหรือพิสูจน์ตรวจจับตัวตนที่แท้จริงของบุคคลบนโลกเสมือนนี้ได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์ใช้สื่ออินเทอร์เน็ตในการสื่อสารโดยไม่มีขอบเขตทางด้านความชอบธรรมของเนื้อหาของสื่อได้อย่างเสรี
           อินเทอร์เน็ตจึงเป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของมนุษย์ได้อย่างเสรี ทำให้มนุษย์ในสังคมไทยสามารถที่จะวิพากษ์หรือวิจารณ์ซึ่งแนวคิดของตนต่อบุคคลอื่นในที่สาธารณะได้อย่างชัดเจน
           แต่กลับพบว่ามนุษย์ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมในมุมมืดที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่สามารถที่จะแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่แปลกประหลาดถึงขั้นที่สังคมไม่อาจยอมรับได้ในช่วงเวลานั้นสามารถเป็นไปได้
           และเมื่อกล่าวถึงพื้นฐานทางธรรมชาติของมนุษย์ มีแนวโน้มที่จะแสดงออกซึ่งพฤติกรรมทางธรรมชาติฝ่ายต่ำ แต่พฤติกรรมของมนุษย์เหล่านั้นถูกกดหรือทับถมด้วยวัฒนธรรมหรือจารีตประเพณีที่ดีงาม อันเป็นลักษณะเด่นของความเป็นมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นมนุษย์มีความต้องการทางเพศ แต่ไม่อาจไปเป็นชู้กับภรรยาหรือสามีของคนอื่นด้วยเหตุผลทางศีลธรรม เป็นต้น
          ในทางตรงกันข้ามยังมีประชากรบนอินเทอร์เน็ตที่เห็นถึงพฤติกรรมฝ่ายสูงของมนุษย์ซึ่งเป็นเรื่องศีลธรรมอันดีของสังคม เช่น การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นต้น จึงได้ใช้คุณลักษณะที่โดดเด่นของอินเทอร์เน็ตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ดังเช่นกรณีของ www.backtohome.com ซึ่งเป็นการสร้างค่านิยมในการสอดส่งดูแลสังคมในการช่วยกันติดตามเพื่อนมนุษย์ที่หายไปจากสังคมอย่างไร้ร่องรอยให้กลับมายังบ้านอย่างปลอดภัย
            ในที่สุดแล้วบนโลกอินเทอร์เน็ตมนุษย์นอกจากจะเป็นสถานที่ที่ใช้ในการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมฝ่ายสูงแล้วยังเป็นสถานที่ที่มนุษย์สามารถแสดงออกซึ่งพฤติกรรมฝ่ายต่ำได้ในทุกรูปแบบโดยไม่ได้รับการกดทับหรือครอบด้วยศีลธรรมหรือวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมอีกต่อไป
ดังนั้น พฤติกรรมของการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทยจึงมีแนวโน้มในการเพิ่มปริมาณมากขึ้นเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมฝ่ายต่ำเหล่านั้น
3. ประเภทของความเบี่ยงเบนบนอินเทอร์เน็ต
             ความเบี่ยงเบนในทางพฤติกรรมของมนุษย์บนอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถแบ่งแยกได้หลายประเภท กล่าวคือ
             1.         ความเบี่ยงเบนในเรื่องแนวคิดของเสรีภาพ เป็นการเปลี่ยนแปลงของแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แต่เดิมเคยมีอยู่อย่างจำกัดมาเป็นเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้อย่างกวางขวางและไม่มีขอบเขต เช่น กระดานข่าวเพื่อการวิพากษ์ทางการเมือง เป็นต้น
             2.         ความเบี่ยงเบนในพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในการประทุษร้ายสังคม เป็นเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ตในเรื่องเพศและความรุนแรง เช่น การถ่ายทอดประสบการณ์ในการเพศสัมพันธ์ของคนในครอบครัว หรือกับสัตว์ การแอบถ่าย ชมรมเซ็กส์หมู่ การแลกเปลี่ยนคู่นอน การโชว์ภาพอวัยวะเพศของตนเอง รวมตลอดถึงการโชว์ภาพการมีเพศสัมพันธ์ของตนเองบนอินเทอร์เน็ต หรือ ชมรมคนรักชุดชั้นใน เป็นต้น
              3.         ความเบี่ยงเบนในพฤติกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตในการประกอบการ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีคุณลักษณะที่โดดเด่นทางด้านความรวดเร็ว สะดวก และราคาถูก ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มในการนำอินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นเครื่องมือในการประกอบการเพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนการผลิตมากขึ้น
             4.         ความเบี่ยงเบนในพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในการพัฒนาสังคม เป็นความเบี่ยงเบนในเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน สามารถแบ่งได้เป็น
                    4.1       เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนหรือร้องเรียนความเดือดร้อนที่ตนได้รับ มนุษย์รู้จักใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางในการเรียกร้องสิทธิของตน เช่น การเรียกร้องสิทธิของตนผ่านกระดานข่าว www.archanwell.com หรือ www.bannok.com
                    4.2       เพื่อการสร้างประชาคมบนโลกอินเทอร์เน็ตโดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเดียวกันหรือเหมือนกันเพื่อจัดทำกิจกรรมบางอย่างจนเกิดความเข็มแข้งของกลุ่มบุคคลเหล่านั้น เช่น www.anyjaree.com เป็นต้น
                    4.3       เพื่อเผยแพร่ แสวงหาและพัฒนาองค์ความรู้ อินเทอร์เน็ตเป็นห้องสมุดที่มีองค์ความรู้มากมาย ประกอบกับสามารถค้นหาข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ได้ง่าย จึงเป็นสาเหตุให้มนุษย์นิยมใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อแสวงหาองค์ความรู้มากขึ้น
4. ผลกระทบจากพฤติกรรมเบี่ยงเบนบนอินเทอร์เน็ต

              ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตก็เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของการกระทำนั้นไปได้อย่างกว้างขวางในทุกมุมของโลกและมีความรวดเร็วอย่างมาก มีจำนวนประชากรที่เข้าไปใช้บริการในเว็บไซต์เหล่านี้จำนวนมากขึ้น
สื่อเหล่านี้มีมาเป็นเวลานานแล้วพร้อมกับการเกิดของอินเทอร์เน็ต เพียงพอที่จะก่อให้เกิดผลบางอย่างต่อวัฒนธรรมของสังคม
             ทุกวันนี้ประชากรในโลกอินเทอร์เน็ตมีจำนวนมากขึ้นเพราะการสนับสนุนจากภาครัฐบาล และคนที่เข้าไปใช้บริการในอินเทอร์เน็ตอย่างน้อยต้องเคยเข้าไปใช้บริการในเว็บไซต์เหล่านี้ จากการสำรวจของโครงการวิจัยพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต พบว่า มีประชากรที่เข้าไปใช้บริการในเว็บไซต์เหล่านี้เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่มากขึ้น
             ในจำนวนผู้ที่เข้าไปใช้บริการในเว็บไซต์เหล่านั้น พบว่าเป็นคนกลุ่มเดิมที่วนเวียนอยู่ในเว็บไซต์เหล่านั้น และขยายตัวออกไปยังผู้ใช้บริการหน้าใหม่ๆ
            ในบรรดานักท่องโลกอินเทอร์เน็ตเหล่านั้น เด็กและเยาวชนเป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่จะพยายามเข้าถึงสื่อเหล่านี้ตามเหตุผลทางจิตวิทยาและมนุษยวิทยา เด็กเหล่านี้สามารถเข้าถึงสื่อเหล่านี้อย่างอิสระและยังคงวนเวียนอยู่ในเสื่อเหล่านี้อีกเป็นเวลานาน
              การเข้าไปในสื่อเหล่านั้นเพียงครั้งหรือสองครั้ง อาจไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม แต่หากเข้าไปใช้บริการในเว็บไซต์เหล่านั้นบ่อยครั้งขึ้น จนเกิดเป็นความคุ้นชินต่อสื่อเหล่านั้น จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถกระทำได้ จะนำพาไปสู่ “การเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมของมนุษย์” จนถึงขั้น “การเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมของมนุษย์บนโลกอินเทอร์เน็ต”
              ผลของปริมาณของเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตประกอบกับความสม่ำเสมอในการเข้าถึงสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ได้ กล่าวคือสามารถก่อให้เกิดความเบี่ยงเบนในทางพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมไทยได้ ซึ่งมีมีทั้งการเบี่ยงเบนไปในทางลบและการเบี่ยงเบนไปในทางบวก
              (1.) การเบี่ยงเบนไปในทางลบซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์
การเปลี่ยนแปลงในแนวคิดของเสรีภาพที่เชื่อว่าไม่มีขอบเขตทำให้มนุษย์ในสังคมไทยเชื่อว่าสามารถใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีขอบเขต ด้วยสาเหตุนี้เองจึงมีผลต่อเนื่องมายังแนวคิดในเรื่องเพศและความรุนแรง  ทุกคนกำลังมองว่าภายใต้โลกแห่งไซเบอร์นี้สามารถทำทุกอย่างได้อย่างเสรี โดยเฉพาะการกระทำในเรื่องเพศ
              การเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมไม่ได้มีผลกระทบต่อสังคมโลกไซเบอร์เท่านั้น แต่อาจจะมีผลกระทบออกมายังโลกแห่งความเป็นจริงได้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ของคนในครอบครัว (Family Incest) ซึ่งผู้ที่ได้รับสื่อเหล่านี้มากจนเกิดเป็นความเคยชินและเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เพราะผู้อื่นสามารถทำได้เช่นกัน ก็จะนำไปกระทำต่อครอบครัวของตนเองบ้าง และนำมาถ่ายทอดสิ่งที่ตนกระทำมาในอินเทอร์เน็ตบ้าง ผู้อื่นก็จะนำไปกระทำต่อและนำมาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตต่อสืบเนื่องกันไปเป็นวัฏจักร
             ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์จริงในสิ่งเหล่านั้น อาจมีการวางแผนเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ เช่น การวางแผนเพื่อแอบถ่ายภาพลับเฉพาะของบุคคลอื่น การวางแผนเพื่อให้มีเพศสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เป็นต้น
เนื้อหาในส่วนนั้นอาจจะเป็นเรื่องจริงหรืออาจจะเป็นเพียงการตกแต่งขึ้นมาอย่างจงใจ ไม่ได้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงประการนี้ไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับว่ามันน่าตื่นตาตื่นใจและชวนให้กระทำตามนั้น
              เนื้อหาดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนแต่อย่างเดียว ไม่มีผลประโยชน์ในรูปของตัวเงินหรือ
             เพื่อผลกำไรในเชิงธุรกิจจากสื่อเหล่านี้ มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการนำสื่อที่มีเนื้อหาเหล่านี้มาเป็นวัตถุของการประกอบการ ยิ่งเนื้อหามีระดับของความรุนแรงเท่าไหร่ ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเท่านั้น เมื่อผู้ประกอบการมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ตนเองก็ได้ผลกำไรมากขึ้น
             เมื่อมีผลกำไรมาก ก็ดึงดูดให้มีผู้ประกอบการมากขึ้น เหล่านี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นของความพังทลายลงของความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม
ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ในครอบครัว บทบาทของสถาบันครอบครัว ถูกมองว่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองทางเพศ
              การแอบถ่ายทำให้สังคมไม่อาจมีการไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน การระแวงภัยที่จะเกิดขึ้นกับตนทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมลดน้อยถอยไป
การแลกเปลี่ยนคู่นอน รวมทั้งการเซ็กส์หมู่ ทำความเชื่อในเรื่องของความสัมพันธ์แบบคู่เดี่ยวที่ลึกซึ้งและแน่นแฟ้น ถูกมองข้ามไป
             การโชว์ภาพลับของตนเองรวมทั้งการโชว์ภาพการร่วมเพศของตนเอง ทำให้สังคมมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ สามารถแสดงอวดให้ผู้อื่นดูได้อย่างโจ่งแจ้ง
             เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมในการประทุษร้ายต่อผู้อื่นและสังคม หากพฤติกรรม หรือค่านิยมเหล่านี้ได้รับการสั่งสมจากมนุษย์ในสังคมจนเกิดเป็นความคุ้นชนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถกระทำได้จนกลายเป็นเรื่องของ “การเบี่ยงเบนไปซึ่งวัฒนธรรมของมนุษย์ในทางลบบนอินเทอร์เน็ต”
            วัฒนธรรมเหล่านี้กำลังแพร่ตัวอย่างรวดเร็ว และขยายจำนวนออกไปอย่างกว้างขวาง หากปล่อยให้วัฒนธรรมหรือจารีตประเพณีที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เอื้อต่อการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมฝ่ายต่ำของมนุษย์เหล่านั้น วัฒนธรรมที่ดีงามถูกละลายไป ในที่สุดสังคมไม่อาจจะอยู่รอดได้
            (2) การเบี่ยงเบนไปในทางบวกซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์
ในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของมนุษย์โดยมนุษย์รู้จักใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อ ประกอบการ หรือรักษาสิทธิและประโยชน์ของตนรวมทั้งเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น
              มนุษย์เริ่มนิยมใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการประกอบการ ซึ่งทำให้ได้รับประโยชน์จากการประกอบการบนอินเทอร์เน็ตมากมาย อาทิ ลดต้นทุน ความรวดเร็ว ความทันสมัย เหล่านี้เป็นจุดดึงดูดให้ผู้ประกอบการหันมานิยมประกอบการบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างมาก
              นอกจากนั้นบนอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้มีการรวมตัวเพื่อสร้างความเข้าใจและความเข้มแข็งของบุคคลเฉพาะกลุ่มเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ มีการรวมตัวกันเพื่อสร้างประชาคมของกลุ่มเฉพาะ เช่น
              กลุ่มรักร่วมเพศ ใช้พื้นที่บนอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ตลอดจนเป็นพื้นที่ในการแสดงออกถึงอิสระในทางความคิดได้อย่างเสรี รวมตลอดถึงการเสริมสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจให้กับสังคม
              กลุ่มทำงานเพื่อสังคมเพื่อติดตามผู้ที่สูญหายไปจากบ้าน เพื่อช่วยเหลือติดตามผู้ที่สุญหายไปจากบ้านอาศัยการรวมตัวของประชากรบนอินเทอร์เน็ตในการช่วยสอดส่องดูแลบุคคลดังกล่าวที่สูญหายไปจากบ้านแล้วแจ้งความคืบหน้าบนอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
              เหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานงานเพื่อช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามแต่เดิมของสังคมไทย แนวคิดนี้กำลังขยายตัวออกไปในวงกว้างที่จะขยายตัวออกมาสู่สังคมบนโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งหากมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับแนวคิดในลักษณะนี้อย่างจริงจังจะช่วยให้สังคมไทยหันกลับมาให้ความสำคัญกลับวัฒนธรรมของการให้ความช่วยเหลือกัน
              อีกทั้งอินเทอร์เน็ตมีความสะดวกต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นองค์ความรู้และถูกจัดอย่างเป็นระบบ และทันสมัย ประกอบกับการนำเสนอที่เป็นระบบมัลติมีเดีย ทำให้ดึงดูดให้มนุษย์เข้าไปค้นหาข้อมูลข่าวสาร อันเป็นการช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของตนได้มากขึ้นกว่าสมัยก่อนมากมาย
             เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมในเชิงบวก ซึ่งมนุษย์มีแนวโน้มที่จะแสดงออกซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งหากได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนเกิดเป็นความเคยชิน และปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมา พฤติกรรมเหล่านี้เองจะกลายเป็น “วัฒนธรรมที่ส่งผลดีต่อสังคมของมนุษย์” ในที่สุด

5. มาตรการในการจัดการ

               การจัดการต่อสื่อบนอินเทอร์เน็ตซึ่งมีผลกระทบในเชิงการแปรเปลี่ยนซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์นั้นมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของสื่อ กล่าวคือ หากเป็นสื่อทีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่ดี ก็สมควรที่จะส่งเสริมสื่อเหล่านั้น แต่ในทางตรงกันข้ามหากเป็นสื่อที่ทำร้ายหรือทำลายพฤติกรรมที่ดีของมนุษย์ลงไปจำเป็นต้องมีมาตรการในการปราบปรามและป้องกันสื่อเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ
                ในแง่มุมขององค์กรที่เกี่ยวข้องในการจัดการจำเป็นต้องกลับมามองถึงบทบาทและภาระหน้าที่ของตนในฐานะของผู้รับผิดชอบต่อมาตรการที่ถูกจัดทำขึ้นในการแก้ไขปัญหา
ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบอินเทอร์เน็ตจำเป็นที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการประกอบการเพื่อป้องกันมิให้สื่อที่มีเนื้อหาเลวปรากฏเผยแพร่อยู่ในสังคมไทยได้
ภาคสังคมและภาคประชาชนต้องช่วยกันป้องกันและตรวจตราสังคม โดยรวมตัวเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม
                 ภาครัฐเองจำเป็นต้องเสริมสร้างมาตรการในการปราบปรามสื่อเลวให้หมดไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้สื่อที่ดีปรากฏตัวในสังคมมากขึ้น ในขณะเดียวกันอาจจะดำรงตนอยู่ในฐานะของผู้กำกับดูแลภาคธุรกิจและภาคสังคม โดยจัดทำมาตรการที่เอื้อให้ต่อภาคสังคมและภาคธุรกิจสามารถเข้ามาร่วมจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 6. สรุป

            หากกล่าวถึงการเบี่ยงเบนในทางพฤติกรรมซึ่งเป็นสาเหตุของการเบี่ยงเบนในทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในสังคมไทยที่เกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ต สังคมไทยจะเข้าใจ” ว่าหมายถึงแต่เพียงการเบี่ยงเบนไปในทางลบเสมอ มนุษย์ยังสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อการประกอบการ ตลอดจนการสร้างค่านิยมที่ดีงาม หรือสร้างสรรค์วัฒนธรรมบางเรื่องที่เลือนลางไปจากสังคมไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันของประชากรในอินเทอร์เน็ตเพื่อช่วยกันสร้างค่านิยมที่ดีอันจะเป็นการนำพาไปสู่การเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมที่ดีของสังคมไทยได้ต่อไป
            ในท้ายที่สุดของเรื่อง พฤติกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตที่จะไปส่งผลถึงความเบี่ยงเบนในทางพฤติกรรมของมนุษย์ที่อาจจะดีหรือเลวก็ได้ ขึ้นอยู่กับ “ความรู้ของมนุษย์” ที่จะรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างชาญฉลาด
ซึ่งสำหรับประเทศไทยในวันนี้ ภารกิจในการจัดการให้อินเทอร์เน็ตนำไปสู่พฤติกรรมของมนุษย์ที่เบี่ยงเบนสู่ความดีงามเป็นภารกิจของ “กระทรวงวัฒนธรรม” ดังนั้นจึงน่าจะเป็น “หน้าที่” ของส่วนราชการนี้ที่จะแสวงหาองค์ความรู้ในการที่จะส่งเสริมให้มนุษย์ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมตลอดถึงการปราบปรามและการป้องกันการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลหรืออาจส่งผลไปยังเพื่อทำร้ายผู้อื่นและสังคม
อย่างไรก็ดี ภารกิจดังกล่าวไม่อาจปล่อยให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำแต่เพียงลำพังผู้เดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคมพร้อมกัน ทั้งจากภาคราชการ ภาคธุรกิจ และภาคเอกชน กล่าวคือ เป็นองค์รวมนั่นเอง


  โดย อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์[1]/มณทนา สีตสุวรรณ[2]/สุดารัตน์ แก้วงาม[3]
สมา โกมลสิงห์[4]/สมบัติ บุญงามอนงค์[5]/พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร[6]/กฤตยา อาชวณิชกุล[7]
โครงการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต

กองทุน ศาสตราจารย์ คนึง ฦาไชย
วันเสาร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
[1] อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.หิดล
[2] ผู้พิพากษาประจำศาลชั้นตัน
[3] นักวิจัยมูลนิธิ ศ.คนึง ฦๅไชย
[4] บรรณาธิการข่าวพิเศษ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี
[5] ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา
[6] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[7] อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28542เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท