เรื่องดีที่ มวล. : ประเมินคุณภาพภายใน ปีการศึกษา ๒๕๕๒ (๒)


คณะกรรมการฯ กล่าวว่ารู้สึกประทับใจที่มีพัฒนาการดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เราได้รับฟังคำแนะนำมากกว่าคำถาม

ตอนที่ ๑

วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๓  เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๓๐ น.
คณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในประกอบด้วย ศ.ดร.สมศักดิ์ พันธุวัฒนา รศ.ดร.มรรยาท รุจิวิชช์ รศ.ดร.อมรา ช้างทรัพย์ และคุณอวยพร เรืองศรี มาเยี่ยมสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ เราเชิญอาจารย์ที่ไม่ติดภารกิจและนักศึกษามารับฟังและตอบคำถามของคณะกรรมการด้วย

ดิฉันใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักวิชาฯ ในปีการศึกษา ๒๕๕๒ (ระหว่าง มิ.ย. ๒๕๕๒-พ.ค.๒๕๕๓) พร้อมทั้งแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในปีการศึกษา ๒๕๕๓ คณะกรรมการฯ กล่าวว่ารู้สึกประทับใจที่มีพัฒนาการดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เราได้รับฟังคำแนะนำมากกว่าคำถาม

ศ.ดร.สมศักดิ์ แนะนำว่าการมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับ Edith Cowan University ประเทศออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง น่าจะหาทางทำวิจัยร่วมกัน (เราก็คิดอยู่) แนะนำให้หาข่าวทุนวิจัยจากสถานฑูตออสเตรเลีย

การให้นักศึกษาด้านวิทยาการสุขภาพรวมกลุ่มกันออกชุมชนและได้รับคำชื่นชมเรื่องจิตอาสา น่าจะมีรางวัลความดีเด่นด้านจิตอาสา โดยเป็นรางวัลที่ชุมชนมีส่วนร่วมพิจารณาด้วย... ถามเรื่องทุนวิจัยว่าได้ทุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ รวมทั้งเรื่องการตีพิมพ์วิทยานิพนธ์

สำหรับปัญหาการหาอาจารย์ไม่ได้เพียงพอ ควรมีโครงการพัฒนาศิษย์เก่าให้มาเป็นอาจารย์ ซึ่งจะมีความรักและผูกพันกับสถาบัน... การพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษเพื่อมุ่งสู่ความเป็นนานาชาติ แนะนำ Website: www.voanews.com ซึ่งมีบทความภาษาอังกฤษที่มีคนอ่านให้ฟังและออกเสียงได้ชัดเจนมาก ใช้ฝึกการฟังและเขียน ตอนเที่ยงมีการเปิดให้ถามได้ สามารถ save file เสียงและเปิดฟังบ่อยๆ ได้ มีคนใช้เพื่อเตรียมสอบ TOEFL ได้ผลภายใน ๓ เดือน

รศ.ดร.มรรยาท กล่าวว่าเห็นความแตกต่างและพัฒนาการค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัย ถ้าพัฒนาไปเรื่อยๆ น่าจะได้ดีกว่าในหลายมหาวิทยาลัย เพราะมีการเปิดกว้างในเรื่องของการทำเครือข่ายกับสาขาวิชาชีพอื่น...การวิจัยจะไปกับบัณฑิตศึกษา จะทำให้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการ citation การทำวิจัยร่วมกับนักวิชาการต่างประเทศเป็นหนทางที่จะทำให้มี citation เพิ่มขึ้น การมีเครือข่ายก็สำคัญ

เรื่องการเตรียมนักศึกษาเพื่อการสอบขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพ...เท่าที่ไปตรวจเยี่ยมสถาบันอื่น เขาจะมีการวัด competence เด็กทุกปี (สอบรวบยอด) มีการเตรียมแบบ speed and power test เด็กจะได้ไม่เครียดเวลาสอบจริง encourage นักศึกษาโดยการให้กำลังใจ วิธีการอย่างหนึ่งคือบอกว่าการสอบผ่านเป็นหน้าเป็นตาของสถาบัน... ต้องทำทั้งระบบ รวมทั้งการเรียนการสอนในคลินิก การ conference การพัฒนาความรู้รวบยอด...ต้องมอง test blueprint ของสภาฯ ให้ขาด... ช่วยกันดูและมองให้ขาดเรื่อง concept

รศ.ดร.อมรา ช้างทรัพย์บอกว่าได้มองสำนักวิชาพยาบาลฯ มานานแล้ว ใหม่ๆ ก็ล้มลุกคลุกคลาน ทั้งจำนวนและคุณวุฒิของอาจารย์ จากจำนวนอาจารย์ที่ไม่มาก พัฒนาคุณภาพได้เร็ว เมื่อมีคนลาศึกษาต่อจึงทำงานกันหนัก...ได้พัฒนามาใน trend ที่ดีมาก มีงานวิจัยมากขึ้น ถ้าได้พัฒนาบัณฑิตศึกษาให้มีแผน ข น้อยลง ก็จะดีต่อเด็กและต่อสำนักวิชา

การจัดทำ SAR โดยธรรมชาติของพยาบาลมองงานคุณภาพอยู่ในสายเลือด เป็นต้นแบบของสำนักวิชาอื่นๆ ได้ เล่มปัจจุบันก็ดูดียิ่งขึ้น...สอบถามเรื่องตัวชี้วัด สกอ. ๒.๑๒ การนับจำนวนนักศึกษาที่ได้รับรางวัล...ฝากให้ดูแลการเรียนวิชาพื้นฐานของนักศึกษา เพราะพบว่ามีนักศึกษาที่ตกรายวิชาเคมีจำนวนมาก ควรเรียกคะแนนมาดูและขอให้มีการติว...เล่าให้ฟังว่าสำนักวิชาเภสัชศาสตร์มีความกังวลเรื่อง Multiprofessional health education ที่ยังไม่เป็นระบบเช่นกัน

ศ.ดร.สมศักดิ์ แนะนำเรื่องการพัฒนาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ว่าหากมีการจ้างผู้ช่วยวิจัย จะเป็นแรงช่วยเหลือให้อาจารย์ทำวิจัยได้มากขึ้น รศ.ดร.มรรยาทเสริมว่าหากดึง Grant ใหญ่ๆ เข้ามาและมีการประกาศรับผู้ช่วยวิจัยอย่างเป็นทางการ ถ้ามีโครงการอย่างต่อเนื่อง จะได้ทำงานไปตลอด และสามารถเอานักศึกษาบัณฑิตเข้ามาร่วมได้

รศ.ดร.มรรยาทกล่าวถึงระบบการเรียนการสอนแบบสหสาขาวิชา ถ้าสำนักวิชาฯ สามารถเป็นศูนย์กลาง ดึงนักศึกษาอื่นเข้ามาได้...ที่ธรรมศาสตร์เคยคิดทำงานร่วมกันเป็นทีม ดึงสาขาด้านสังคมศาสตร์เข้ามา แต่ยังไม่ชัดเจน ถ้าทำได้เป็นทีมแล้วประเมินแบบ PDCA จะได้ทั้งเรื่อง QA และการพัฒนานักศึกษา...การพัฒนาบุคลากรโดยให้ทุนนักศึกษาที่เรียนดี ความประพฤติดี... ส่วนข้อเสนอแนะในการทำงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม อยากให้สะท้อนบริบทของสาขาพยาบาลศาสตร์ เช่น การพัฒนาจิตอาสา

ศ.ดร.ศมศักดิ์เล่าเรื่อง E-learning ที่ ม.บูรพา...ให้นักศึกษาเรียนด้วยตนเอง มอบหมายให้ทำงานเป็นกลุ่ม แนะนำ Thai Cyber University

ผศ.น.อ.(ญ) ดร.ทัศน์ศรี เสมียนเพชร อาจารย์พยาบาลที่เข้าฟังด้วยบอกความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพบัณฑิตด้านคุณธรรม จริยธรรม ความสามารถด้าน Active Learning และตอบคำถามเรื่องการดูแลนักศึกษาว่ามีการบันทึกข้อมูลส่วนตัว ความก้าวหน้าในการเรียน อาจารย์จะรู้ปัญหาเชิงลึกของนักศึกษาในทุกมิติและมีการส่งต่อ

ผศ.ดร.สายฝน เอกวรางกูร บอกว่าอยู่ที่นี่มีอิสระทางวิชาการสูง ได้ทำงานอย่างอิสระ มีความพยายามในการเกลี่ยภาระงาน... เป็นเรื่องของการจัดการตนเอง เวลาไปทำงานข้างนอกก็ blend กับการเรียนการสอน นักศึกษามีศักยภาพเหมือนเป็นเพื่อนร่วมงาน/ทีมงาน นักศึกษาเรียนรู้จากข้างนอกแล้วเอาไปใช้กับผู้ป่วย มีนักศึกษาที่เขียนบทความวิชาการได้ ตนเองทำงานกับองค์การ PATH และเครือข่ายหลายหน่วยงาน... จุดอ่อนคือการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ อยากให้มหาวิทยาลัยมี Writing center อีกอย่างคือ Advance statistics ได้พยายามเชื่อมกับอาจารย์สาขาอื่น

รศ.ดร.อมราจึงเสนอว่ามหาวิทยาลัยควรมีนักสถิติเก่งๆ อย่างน้อยหนึ่งคน ส่วน Writing center ดูเหมือนจะมี แต่ยังไม่เป็นระบบที่ดี

เราได้ฟังคำแนะนำและตอบคำถามคณะกรรมการฯ จนเป็นที่พอใจแล้ว ดิฉันและอาจารย์พยาบาลจึงออกจากห้องประชุมเพื่อให้คณะกรรมการฯ พูดคุยกับนักศึกษา กว่าจะแล้วเสร็จก็เกือบจะ ๑๒.๓๐ น. แล้ว

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 387050เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท