Workshop KM ที่วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย (๓)


การจัด KM workshop เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จัก KM การจะเอา KM ไปใช้ต่อยังต้องใช้ความพยายามอีกมาก

ตอนที่ ๒

วันที่  ๒๒ กันยายน ๒๕๕๒
เช้าวันนี้ดิฉันเดินทางมาถึงประตูทางเข้าวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยตั้งแต่เช้า ทำตามที่อาจารย์อัญชลีบอกไว้คือพอมาถึงก็ให้หันหัวรถเข้ามาแล้วยามจะเปิดประตูให้เอง แต่วันนี้ไม่เป็นไปดังคาดเพราะคุณยามไม่ยอมเปิดประตูให้เข้า ดิฉันก็ไม่ยอมถอยรถออก คุณยามจึงแง้มประตูแล้วเดินหน้ามุ่ยเข้ามาหา คุยกันก็ได้ความว่าที่คุณยามไม่ยอมเปิดประตูให้เข้านั้นเพราะเมื่อวานเขาถูกดุว่าให้รถของใครเข้ามาจอดใต้ถุนหอพัก

ดิฉันบอกว่าได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรและให้มาจอดรถที่นี่ เดี๋ยวจะ clear ให้เอง คุณยามเลยจำใจเปิดประตูให้ขับรถเข้ามาได้ ดิฉันแจ้งข่าวให้อาจารย์อัญชลีรู้เพื่อจะได้ประสานกับผู้บริหารที่รับผิดชอบพื้นที่ ได้รู้มาอีกว่าที่คุณยามถูกดุเพราะเขาตอบไม่ได้ว่าวิทยากรชื่ออะไร เห็นใจคุณยามจริงๆ รู้อย่างนี้คราวหน้าคราวหลังจะเขียนชื่อให้คุณยามถือไว้ เมื่อจอดรถเสร็จดิฉันเอากระดาษมาเขียนคำว่า "วิทยากร" ตัวใหญ่ๆ วางไว้ที่หน้ารถเพื่อเป็นการสื่อสารให้รู้ทั่วกัน

จำนวนผู้เข้าประชุมในวันนี้ลดลงไปอีก เหลือประมาณ ๒๐ กว่าคน อาจารย์ก้อย (พรพรหม) รับหน้าที่นำผู้เข้าประชุมทำกิจกรรมให้ตื่นตัว ใช้กิจกรรมฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ทำไข่เจียว เรียกเสียงหัวเราะและสมาธิไปพร้อมกัน

ดิฉันทบทวนความเข้าใจเรื่อง KM โดยใช้ VDO การบรรยายของ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ในเวทีมหกรรม KM เบาหวาน ครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๕๐ และเพิ่มเติมเรื่องราวและตัวอย่างของการสกัดขุมความรู้

๑๐.๐๐-๑๐.๑๕ น. พัก รับประทานอาหารว่าง คุณแม่บ้านเอาอาหารว่างมาให้ พร้อมบอกว่าเมื่อวานเห็นว่าไม่ดื่มกาแฟ วันนี้จึงเปลี่ยนเป็นน้ำขิง แม่บ้านท่านนี้มีอายุแล้วช่างสังเกตและคงจะมีความสุขกับการทำหน้าที่ของตนเอง เธอพับกระดาษเช็ดปากเป็นรูปร่างต่างๆ ไม่ซ้ำกัน

 

บรรยากาศช่วงที่อาจารย์ก้อยพาทำกิจกรรม

หลังรับประทานอาหารว่าง อาจารย์ก้อยพาทำกิจกรรมกิ่ง ก้าน ใบ ฝนตก.......แล้วผู้เข้าประชุมแบ่งกลุ่มย่อย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวการทำงานที่ประสบความสำเร็จหรือที่ตนเองภาคภูมิใจ ผู้เข้าประชุมที่เป็นอาจารย์เล่าเรื่องการจัดการเรียนการสอน เจ้าหน้าที่เล่าเรื่องการทำงานสนับสนุนฯ บรรยากาศดูเป็นกันเอง ไม่เคร่งเครียด ผู้เข้าประชุมหน้าใหม่บางคนเพิ่งเข้ามาสมทบตอนนี้ก็มี

ดิฉันตามฟังการเล่าเรื่องของกลุ่มต่างๆ พบว่าเรื่องเล่าดีๆ ก็มีมาก อาจารย์น้ำหวานที่เป็นอาจารย์ใหม่ ภูมิใจที่ใช้ concept mapping สอนนักศึกษาในคลินิกแล้วได้ผลดี อาจารย์น้ำหวานมีเทคนิคการเล่าเรื่องได้น่าสนใจมากๆ ทั้งน้ำเสียง หน้าตาท่าทางที่แสดงออกขณะเล่าเรื่อง ทำให้เรื่องเล่าฟังดูมีชีวิตชีวาจนสมาชิกกลุ่มต้องขอให้อาจารย์ลองแสดงการใช้ concept mapping ให้ดู (แววออกตั้งแต่เมื่อวานที่ออกมาเล่าเรื่องของกลุ่ม)

 

กลุ่มย่อย เล่าเรื่อง

อาจารย์ก้อย พรพรหมเล่าเรื่อง “ตารางหน้าเดียวก็ work” สำหรับการจัดให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยไม่ทับซ้อนเวลากับนักศึกษาจากสถาบันอื่น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใส่ภาพในสื่อแทนตัวหนังสือ การทำหุ่นเพื่อสอนการดูแลหลังผ่าตัด การใช้ MV นำเข้าสู่บทเรียน Teacher spirit, Advisor 7-Eleven เป็นต้น ส่วนเจ้าหน้าที่ก็มีเรื่องการพัฒนาวิธีการทำงานที่ลดเวลาและเพิ่มความสะดวก

ส่วนที่แตกต่างไปจากการเล่าเรื่องความประทับใจของตนเองในวัยเรียนเมื่อวานนี้ ที่ผู้เล่าจะเจาะจงเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองประทับใจ แต่พอเล่าเรื่องการทำงาน มีบางคนที่ยังค้นหาความสำเร็จหรือความประทับใจไม่เจอ จึงเล่าขั้นตอนการทำงาน เล่าว่าทำงาน routine อย่างไร เล่าการสอนทั้งรายวิชา เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้หลายๆ shot

ผู้ฟังบางคนยังชินกับกลุ่มระดมสมอง เมื่อฟังจบก็มีคำถามว่า สมมติว่า.......ทำไมไม่.......ปัญหาที่พบอีกอย่างคือสมาชิกกลุ่มบางคนคงมีภารกิจมาก จึงเดินเข้าๆ ออกๆ การตีความและสกัดขุมความรู้ มีบ้างที่เขียนออกมาเป็นขั้นตอนการทำงาน

เที่ยงแล้วกลุ่มเล่าเรื่องยังติดพัน เราขอให้พักรับประทานอาหารกลางวันกันก่อน เมื่อกลับเข้ามาจึงให้แต่ละกลุ่มเขียนขุมความรู้ลง card กลุ่มละสี ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอของแต่ละกลุ่มว่ากลุ่มไหนมีเรื่องเล่าอะไรบ้าง สังเกตได้ว่าคนที่ออกมานำเสนอนั้นสามารถจดจำเรื่องเล่าของกลุ่มได้เป็นอย่างดี เรื่องเล่าที่ผู้เข้าประชุมบอกว่าน่าประทับใจ เจ้าของเรื่องได้รับหนังสือ KM ของ สคส. คนละเล่ม

ดิฉันสาธิตให้ดูว่าจาก card ที่เขียนขุมความรู้สามารถนำมาจัดหมวดหมู่และสังเคราะห์ออกมาเป็นแก่นความรู้ได้อย่างไร แล้วใช้ตัวอย่างจากเครือข่าย KM เบาหวานแนะนำให้รู้จักกับเครื่องมือชุดธารปัญญา ต่อด้วยการแนะนำให้รู้จัก CoPs กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน Weblog จนถึงตลาดนัดความรู้

เนื่องจากที่ห้องประชุมสามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้ ดิฉันจึงสาธิตการเขียนบันทึกในบล็อก โดยเอาเรื่องราวและรูปภาพของ workshop เมื่อวานนี้มาบันทึกให้เห็น (อ่านที่นี่) เสียดายที่ระบบของ Gotoknow ที่กำลังปรับโฉมยังไม่สมบูรณ์ จึงขลุกขลักในตอนของการใส่รูปภาพให้สวยงาม (ตอนนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว)

ช่วงสุดท้ายเป็นการ AAR ที่ผู้เข้าประชุมได้พูดทุกคน โดยมีทีมผู้จัดงานทำหน้าที่บันทึกข้อมูลไว้เพื่อเอาไปดำเนินการต่อ ผู้เข้าประชุมหลายคนมีไอเดียที่จะไปทำต่อ เช่น คุณวิโชค ทีมสารสนเทศ จะเผยแพร่เทคนิคการใช้คอมพิวเตอร์ทางลัด

อาจารย์ปัทมาพร รุ่งพิพัฒนพงศ์ AAR เป็นคำกลอนที่เขียนสดๆ ดังนี้

“KM คือ”
อายตนะ ๖ นำมาตระหนักรู้  มุ่งสู่ความตั้งใจและมุ่งมั่น
หมั่นค้นคว้าปรับใช้เป็นประจำ       คำสู่คำนำมาเล่าแลกเปลี่ยนเอย
เผยความดีแจงเคล็ดลับผลัดกันใช้ ให้เกิดแนวคิดใหม่ใหม่การเรียนรู้
จดบันทึกลงลึกไว้เป็นคู่       ช่วยกันสู้นำไปพัฒนางาน
สานพลังความรู้ที่แจ้งชัด     ขจัดความคิดเก่าที่ขัดแย้ง
ช่วยลดความรุนแรงได้กว่าครึ่ง         พึง ฟัง คิด แจง สร้างนวัตกรรมใหม่
“จะช่วยถักทอฝันนั้นให้เป็นจริง”

ในภาพรวมดิฉันพบว่าวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยมีเรื่องราวความสำเร็จอยู่มากมาย แต่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ควรฝึกทักษะการฟัง การเล่าเรื่อง สุนทรียสนทนา การสกัดขุมความรู้ ฯลฯ เพิ่มเติม

การจัด KM workshop เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จัก KM การจะเอา KM ไปใช้ต่อยังต้องใช้ความพยายามอีกมาก ดิฉันมองเห็นช่องทางที่วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยจะเริ่มเดินได้ ตั้งแต่การเอาเรื่องราวที่เป็น “ต้นทุนดี” ของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ออกเผยแพร่และยกย่อง ชื่นชม ค่อยทำค่อยไปโดยไม่ต้องกลัวผิด-ถูก แต่ให้ต่อเนื่อง

 

จากซ้ายไปขวา อาจารย์ ดร.เต็มดวง อาจารย์ปัทมาพร อาจารย์ก้อย

ดิฉันคุยกับทีมของวิทยาลัยว่าในเดือนธันวาคม ทีมจากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะมาขอเรียนรู้แบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” เรื่องหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพ การประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการสอนทางคลินิก ต่อไปอาจจะจับมือกันจัดตลาดนัดความรู้เรื่องการเรียนการสอนทางคลินิกก็ได้

วัลลา ตันตโยทัย
 

หมายเลขบันทึก: 301322เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีอีกครั้งค่ะอาจารย์

คือ หนูสนใจเรื่องเล่า ของอาจารย์ก้อย พรพรหมที่ท่านเล่าเรื่อง “ตารางหน้าเดียวก็ work” สำหรับการจัดให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยไม่ทับซ้อนเวลากับนักศึกษาจากสถาบันอื่น

รายละเอียดเป็นไงหรอคะ น่าสนใจดีจังเลยค่ะ อ.ปัทมาพร ยังเขียนกลอนได้น่าสนใจเหมือนเดิม อาจารย์น่ารักนะคะ

หนูจะมาเยี่ยมชมเรื่อยๆค่ะ อ่านแล้วได้ความรู้ไปในตัว

เรียนคุณนาบิลลา

ขอดูตารางหน้าเดียวจากอาจารย์ก้อยโดยตรงนะคะ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม

เพิ่งได้เข้ามาอ่านค่ะ

ขอบคุณ "คุณนาบิลลา" ค่ะ

"ตารางหน้าเดียว"....สนใจ....แลกเปลี่ยนกันได้นะคะ

อ.ก้อยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท