ชุมชนน่าอยู่ระดับหมู่บ้าน


แนวคิดเสริมพลังชุมชนถ้าเทียบกับแนวคิดการพัฒนาชุมชนก็คือ การพัฒนาชุมชนที่ชุมชนคิดเองทำเอง

 

1. ทำไมเราจึงทำชุดโครงการชุมชนน่าอยู่

วิสัยทัศน์ของสสส.เขียนไว้ว่า "ทุกคนบนแผ่นดินไทย มีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะ" โปรดสังเกตว่ากลุ่มเป้าหมายของสสส. คือทุกคนบนแผ่นดินไทย ดังนั้นจึงต้องหาหนทางที่เป็นไปได้ ที่จะให้การสร้างเสริมสุขภาพเข้าถึงทุกคนบนแผ่นดินไทย ให้ทุกคนมีโอกาส ให้ทุกคนสามารถเข้าถึง และพยายามลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่

ชุดโครงการชุมชนน่าอยู่ของสำนักสร้างสรรค์โอกาสฯ ใช้ชุมชนระดับหมู่บ้านซึ่งเป็นชุมชนขนาดเล็กเป็นหลัก เท่าที่ทำมาแล้วการดำเนินงานชุมชมน่าอยู่ระดับหมู่บ้านสามารถเข้าถึงได้ทุกครัวเรือน เช่น ที่บ้านสำโรง สภาผู้นำชุมชนสามารถจัดให้สมาชิกสภาฯกลุ่มหนึ่ง ไปเยี่ยมครบทั้ง 183 ครัวเรือนที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ใช่ครั้งเดียวเลิก แต่เยี่ยมเป็นประจำทุกสองเดือน  แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงประชากรทุกคนในหมู่บ้านทำได้ไม่ยาก


ประเทศไทยมีชุมชนระดับหมู่บ้านอยู่ประมาณ 84,000 แห่ง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าถึง (เกือบ) ทุกคนบนแผ่นดินไทยได้ด้วยแนวคิดนี้  และถ้าจะทำกันจริงๆก็เป็นไปได้ที่จะทำให้ (เกือบ) ครบได้ในเวลา 20 ปี   นี่คือ ส่วนหนึ่งของการตอบสนองภารกิจด้านการสร้างสรรค์โอกาส 
สำหรับภารกิจด้านนวัตกรรม  เรานำนวัตกรรมเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการเสริมพลังชุมชนของ Professor Laverack (1)  มาใช้ร่วมกับนวัติกรรมกลไกสภาผู้นำชุมชนและกลไกแผนชุมชนพึ่งตนเอง ที่ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ บ้านหนองกลางดง (2) ไปเรียนรู้มาจากคุณประยงค์ รณรงค์ ที่ตำบลไม้เรียง เมื่อปี พ.ศ. 2541 และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนระดับหมู่บ้านและใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงทุกวันนี้ และกระทรวงมหาดไทยก็อยากใช้กลไกทั้งสองนี้ (3)

  
ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งและเป็นเหตุผลที่สำคัญกว่า ที่น่าทำชุดโครงการชุมชนน่าอยู่  ได้แก่ เป็นเรื่องที่ตรงกับแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพมุมมองใหม่ (แต่ก็มองกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว) นั่นคือ กฎบัตรออตตาวาและกฎบัตรกรุงเทพที่ให้นิยามการสร้างเสริมสุขภาพไว้ว่า เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ประชาชนสามารถควบคุมสุขภาพและปัจจัยกำหนดสุขภาพได้มากขึ้นและทำให้สุขภาพดีขึ้น นี่คือ การนิยามว่าการสร้างเสริมสุขภาพเป็นกระบวนการเสริมพลัง เพราะพลังคือความสามารถในการควบคุม ในทำนองเดียวกัน การเสริมพลังชุมชนคือการช่วยให้ชุมชนสามารถควบคุมปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของตน ซึ่งรวมทั้งปัจจัยกำหนดสุขภาพด้วย  ดังนั้นจึงเป็นกระบวนการเดียวกันกับ การสร้างเสริมสุขภาพ (1)  ด้วยเหตุนี้จึงสามารถนำแนวคิดการเสริมพลังชุมชน มาใช้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สองอย่างพร้อมกัน เพราะแนวคิดเสริมพลังชุมชนถ้าเทียบกับแนวคิด การพัฒนาชุมชนก็คือ การพัฒนาชุมชนที่ชุมชนคิดเองทำเอง 


2. การใช้แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการเสริมพลังชุมชน


2.1  Professor Laverack (1)  แนะนำว่า  เราสามารถสอดแทรกเรื่องการเสริมพลัง เข้าไปในโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ทำกันอยู่ทั่วไปได้ ทำให้นอกจากจะได้ผลสำเร็จของโครงการแล้ว ชุมชนจะมีพลังเพิ่มขึ้นด้วย  และพลังที่เกิดขึ้นจะเป็นผลดีต่อการสร้างเสริมสุขภาพและการพัฒนาชุมชนโดยรวมต่อไป การเพิ่มขึ้นของพลังนี้สามารถติดตามวัดได้ด้วยการวัดเก้ามิติของการเสริมพลังชุมชนดังแสดงไว้ในแผนภาพที่ 1 โดยแนะนำให้ประเมินพลังชุมชนไว้เป็นเส้นฐาน ตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นโครงการ และใช้ผลการประเมินนั้นในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มพลังในแต่ละมิติที่เห็นว่ายังต่ำอยู่

  
                                                                              แผนภาพที่ 1

2.2  โปรดสังเกตว่า ถ้านำกลไกสภาผู้นำชุมชน และกลไกแผนชุมชนพึ่งตนเองมาใช้ จะเอื้อให้เกิดการเสริมพลังในมิติต่างๆ ดังนี้


กลไกสภาผู้นำชุมชน  
      เสนอให้แต่ละหมู่บ้านมีสภาผู้นำชุมชน ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้นำที่เป็นทางการ และตัวแทนของกลุ่ม (หรือองค์กร) ต่างๆที่มีอยู่แล้วในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำที่ไม่เป็นทางการ (โดยแนะนำให้เลือก คนดี คนเก่ง คนที่พูดจารู้เรื่อง และคนที่อยากทำงาน-จิตอาสา) 
      เมื่อเทียบกับมิติเก้าประการในแผนภาพที่ 1 กลไกสภาผู้นำชุมชนก็คือ โครงสร้างองค์กรที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นมา โดยระดมผู้นำท้องถิ่น ที่หลากหลายและครอบคลุม (รวมผู้รับผิดชอบโครงการ และแกนนำทั้งหลายไว้ด้วย) นั่นคือให้สภาฯเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ สภาฯจึงเป็นเวทีการมีส่วนร่วม ทั้งร่วมคิดร่วมทำและร่วมติดตามโครงการ หากสภาฯทำงานได้จริงย่อม นำไปสู่ความเข้มแข็งในสามมิติ คือ โครงสร้างองค์กร ผู้นำท้องถิ่น และการมีส่วนร่วม (ดังแผนภาพที่ 2)

กลไกแผนชุมชนพึ่งตนเอง
      เสนอให้สภาฯเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่เรื่องการกำหนดประเภทข้อมูลที่จำเป็น การรวบรวมข้อมูลจากทุกครัวเรือน การวิเคราะห์ข้อมูล การประเมินปัญหาชุมชน และการวางแผนชุมชนเป็นสามประเภท ได้แก่ ทำเอง ทำร่วม และ ทำขอ  ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นการระดมทรัพยากร (ทำเอง และทำร่วม) และการเชื่อมโยงกับองค์กรและบุคคลภายนอก (ทำร่วม และทำขอ) ดังแผนภาพที่ 2

                                                                             แผนภาพที่ 2

กลไกพี่เลี้ยง 
      ที่หลืออีกสามมิติ ให้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของพี่เลี้ยงที่จะต้องดูแลคือ การถามว่าทำไม (เป็นรูปธรรมของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ) ซึ่งพี่เลี้ยงจะช่วยได้ด้วยการเป็นตัวอย่างของการถามว่าทำไม (เช่น มีเหตุผลอะไรจึงเลือกทำแบบนี้)  และคอยให้ข้อมูล สะท้อนกลับ (เช่น มีวิธีอื่นที่ง่ายกว่าวิธีนี้หรือไม่) ความสัมพันธ์กับตัวแทนภายนอก (ในที่นี้คือพี่เลี้ยง เป้าหมายคือ ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม) และการบริหารจัดการโครงการ เป็นสองมิติที่ไปด้วยกัน กล่าวคือ ถ้าสภาฯยังอ่อนแออยู่พี่เลี่ยงอาจต้องช่วยทำแทบทุกอย่าง เมื่อสภาฯเข้มแข็งขึ้นพี่เลี้ยงก็ลดบทบาทลงจนแทบจะไม่มีเหลือ

  

3. วิธีทำโครงการชุมชนน่าอยู่


(1) ต้องเป็นชุมชนระดับหมู่บ้าน ที่ผู้ใหญ่บ้านหรือประธานชุมชนเป็นหัวหน้าโครงการ และมีกลุ่มผู้รับผิดชอบโครงการเป็นสมาชิกสภาฯ
(2) ในปีแรก เลือกทำประเด็นอะไรก็ได้ที่จะทำให้ชุมชนน่าอยู่ และชุมชนอยากทำ (เป็นแบบฝึกหัดการทำงาน)    
(3) ใช้กลไกสภาผู้นำชุมชน และกลไกแผนชุมชนพึ่งตนเอง เป็นหลักในการทำโครงการ  
(4) เรียนรู้จากการลงมือทำ 
(5) ปีต่อไปจึงเริ่มสนใจประเด็นที่เป็นปัญหาสุขภาพจริงๆ โดยให้ความสนใจกับปัจจัยกำหนดสุขภาพ ที่เป็นต้นตอของปัญหา (ปรับปรุงแผนชุมชนให้ดีขึ้น) และแสวงหาหุ้นส่วน (มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน) พันธมิตร (เพื่อทำงานไปสู่เป้าหมายร่วมกัน) และเครือข่าย (เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความรู้) 
- หุ้นส่วน เช่น วัด โรงเรียน ร.พ.ส.ต. ที่เกี่ยวข้องด้วย
- พันธมิตร เช่น หมู่บ้านอื่นในตำบลเดียวกัน
- เครือข่าย เช่น หมู่บ้านในตำบล อำเภอ หรือจังหวัดอื่น

เอกสารอ้างอิง
1. Laverack G.(2007). Health Promotion Practice: Building empowered communities (หาที่ Download ฉบับแปลเป็นภาษาไทยได้โดย Google ด้วยคำว่า Laverack อำนาจ)  
2. สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม แผนชุมชนพึ่งตนเอง บ้านหนองกลางดง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุดบทเรียนจากชุมชนลำดับที่ 3 (หาที่ Download โดย Google ด้วยคำว่า อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ Gotoknow บ้านหนองกลางดง)
3. คู่มือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) สำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (Google ด้วยคำว่า คู่มือ กม)

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์
10 กันยายน 2561

หมายเลขบันทึก: 652118เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2018 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2018 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท